บทความ: เรียนรู้ความพยายามของสิงคโปร์ในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน - จากเตาเผาสู่การลดขยะที่ต้นทาง
ในมุมมองของคนไทยทั่วไปอาจจะมองภาพสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีแปลงขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy) ที่ทันสมัย และในช่วงที่ประเทศไทยมีการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 พบว่ามีการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจผิดว่า คนสิงคโปร์ไม่จำเป็นต้องลดการใช้ถุงพลาสติกเพราะมีเตาเผาขยะ (สำนักข่าวไทย, 2563; ผู้จัดการออนไลน์, 2564) ซึ่งในความเป็นจริงนั้น สิงคโปร์ประสบปัญหาขยะพลาสติกเป็นอย่างมากและพยายามที่จะควบคุมปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการจัดทำแผนและกฎหมายที่มุ่งจัดการขยะที่ต้นทางเพื่อลดภาระในการกำจัดที่ปลายทาง บทความฉบับนี้นำเสนอสถานการณ์ปัญหาขยะของสิงคโปร์ และความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายและกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาขยะบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการถอดบทเรียนสำหรับการจัดการขยะของประเทศไทยต่อไป

สิงคโปร์หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “สาธารณรัฐสิงคโปร์” มีภูมิประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาดพื้นที่รวม 725.7 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตเพียงเล็กน้อย (ภูเก็ตมีพื้นที่รวม 570 ตารางกิโลเมตร) แต่มีประชากรในเกาะเล็กนี้ ๆ สูงถึง 6.2 ล้านคน ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับ 2 ของโลก1  รองจากโมนาโก ด้วยระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับสูง ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในอัตราสูงจึงมีการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ปริมาณขยะมูลฝอยในสิงคโปร์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากถึง 7 เท่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาโดยในปี ค.ศ. 20202  สิงคโปร์มีปริมาณขยะรวมทุกประเภทอยู่ที่ 5,880,000 ตัน ขยะที่เผาได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปกำจัดด้วยเตาเผาขยะที่มีอยู่ 4 แห่ง (NEA, 2022) รัฐบาลคาดการณ์ว่า ด้วยอัตราการกำจัดขยะในปัจจุบัน หลุมฝังกลบที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศ คือ Semakau Landfill ซึ่งรองรับขี้เถ้าจากเตาเผาและขยะที่เผาไม่ได้นั้น จะรองรับขยะได้ถึงปี ค.ศ. 2035 เท่านั้น (Fu, 2021) ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับมาตรการลดปริมาณขยะเป็นอย่างมากเพื่อที่จะยืดอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบที่มีอยู่แห่งเดียวนี้ 


ด้วยประเทศที่เป็นเกาะ ทรัพยากรในประเทศมีจำกัดมาก สิงคโปร์จึงต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของขยะมูลฝอย รัฐบาลได้ประเมินว่า ในปี ค.ศ.2019 คนสิงคโปร์ได้ใช้และทิ้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Single-use Packaging หรือ Disposables) เป็นจำนวนถึง 2 แสนตัน คิดเป็นปริมาณที่สามารถนำไปถมสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานได้ถึง 400 แห่ง สิงคโปร์ยังถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งสูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 76 กิโลกรัมต่อคนในปี ค.ศ. 2019 (Charles, Kimman & Saran, 2021) ปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 868,000 ตัน ส่วนใหญ่ส่งไปกำจัดด้วยการเผา อัตรารีไซเคิลพลาสติกต่ำมาก เพียงร้อยละ 4 หรือ 41,000 ตันเท่านั้น นอกจากขยะบรรจุภัณฑ์แล้ว ขยะอาหารนับเป็นปัญหาสำคัญของสิงคโปร์ ในปีค.ศ. 2020 มีขยะอาหารเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 665,000 ตัน แต่มีอัตราการนำไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 19 เท่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์และขยะอาหารเป็นอย่างมาก (NEA, 2022; MEWR, 2019)

เดิมสิงคโปร์มุ่งเน้นมาตรการเชิงสมัครใจกับภาคธุรกิจและประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง ดังจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการข้อตกลงบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Singapore Packaging Agreement : SPA) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตลดการใช้วัสดุและขยะบรรจุภัณฑ์ (NEA, 2022) ส่วนโครงการรณรงค์ผู้บริโภค ภาครัฐและภาคเอกชนได้สนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชน “Zero Waste SG” ให้ดำเนินโครงการรณรงค์การพกภาชนะส่วนตัวและลดการใช้ถุงพลาสติกภายใต้โครงการ “Bring Your Own (BYO)” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 (Zero Waste SG, 2020) แต่ด้วยปริมาณขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องยกระดับการบริหารจัดการขยะให้เข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยการกำหนดนโยบาย แผนและกฎหมายที่มุ่งเน้นการลดขยะที่ต้นทางตั้งแต่กระบวนการผลิต และผลักดันให้ภาคเอกชนมาร่วมรับผิดชอบในการจัดระบบเก็บรวบรวมและจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.1 แผนแม่บท Zero-waste Masterplan
สิงคโปร์ได้จัดทำแผนแม่บทสิงคโปร์ปลอดขยะ (Zero Waste Masterplan) เมื่อปี ค.ศ. 2019 กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ประเทศปลอดขยะ (Zero Waste Nation) โดยกำหนดเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะที่จะต้องส่งไปกำจัดด้วยการฝังกลบลงให้ได้ร้อยละ 30 นั่นคือ ลดจาก 0.36 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปีฐาน 2018 ให้เหลือ 0.25 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในภาพรวมให้ได้ร้อยละ 70 แบ่งเป็นอัตรารีไซเคิลจากภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 81 และภาคชุมชน ร้อยละ 30 เพื่อนำไปสู่การยืดอายุการใช้งานหลุมฝังกลบ Semakau ให้ยาวนานกว่าปี ค.ศ. 2035 (MEWR, 2019)  

เพื่อให้มาตรการตามแผนแม่บทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act 2019) ควบคู่ไปกับมาตรการรณรงค์ สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและผู้บริโภคเพื่อนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

3.2 พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act, 2019) และความคืบหน้าในการดำเนินการ
สิงคโปร์มีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Environmental Protection and Management Act 1999 และ Environmental Public Health Act 1987 ต่อมาในปี ค.ศ. 2019 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Resource Sustainability Act (RSA), 2019) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดกรอบการบริหารจัดการที่ให้ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขายหรือจำหน่ายสินค้าจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต้นทุนในการเก็บรวบรวมและจัดการผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วหรือเมื่อกลายเป็นของเสีย 2) เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์มีการลดการใช้วัสดุ การใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และ 3) เพื่อให้มีการคัดแยกและจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสม โดยกฎหมายดังกล่าวมุ่งเน้นจัดการขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste: E-waste) ขยะบรรจุภัณฑ์ (Packaging Waste) และขยะอาหาร (Food Waste) โดยมีรายละเอียดและการดำเนินงานดังนี้

3.2.1 การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กฎหมาย RSA
กฎหมาย RSA ได้นำหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มาใช้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะบรรจุภัณฑ์ โดยพัฒนาระบบ EPR อย่างเต็มรูปแบบสำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม (Regulated Product)3 โดยผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environment Agency: NEA) มิเช่นนั้นจะไม่สามารถวางจำหน่ายสินค้าของตนได้ และผู้ผลิตรายใหญ่ต้องเข้าร่วมกับองค์กรที่เรียกว่า “Producer Responsibility Scheme” (PRS) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของผู้ผลิตที่จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก NEA  หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ บริษัท ALBA E-waste Smart Recycling Pte Ltd ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น PRS เป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2026 เพื่อเป็นผู้เก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์จากผู้บริโภคในนามของผู้ผลิต (NEA, 2022; ALBA, 2022) 


3.2.2 การจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ภายใต้กฎหมาย RSA
ในส่วนของขยะบรรจุภัณฑ์ กฎหมาย RSA ได้กำหนดนิยามของ “ขยะบรรจุภัณฑ์” (Packaging Waste) หมายถึง วัสดุหรือการประกอบกันของวัสดุใด ๆ ที่ใช้สำหรับบรรจุ ป้องกันหรือนำเสนอสินค้า แต่ไม่รวมถึงวัสดุที่อยู่ในความครอบครองของผู้ผลิตที่เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำ ด้วยคำนิยามดังกล่าว ขยะบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบจึงครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิที่เป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกที่ห่อหุ้มสินค้า (เช่น กล่องเครื่องดื่มที่บรรจุนมหรือน้ำผลไม้) บรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ (เช่น ฟิลม์พลาสติกที่ห่อหุ้มกล่องเครื่องดื่มให้เป็นแพ็ค 4 กล่อง) และบรรจุภัณฑ์ตติยภูมิ (เช่น ลังกระดาษที่บรรจุแพ็คกล่องเครื่องดื่ม 6 แพ็คเพื่อให้ง่ายต่อการขนส่ง) รวมถึงบรรจุภัณฑ์ภาคบริการซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการบรรจุสินค้า ณ จุดขาย เช่น ถุงพลาสติก กล่องและถ้วยบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้บริโภค เป็นต้น (รูปที่ 1) ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมีการนำกลับมาใช้ซ้ำ มิได้ส่งต่อให้ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้บริโภคจะไม่ถูกรวมอยู่ในกฎหมายนี้ ดังนั้น กฎหมาย RSA จึงครอบคลุมการจัดการบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีปริมาณการใช้สูงมากในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในสิงคโปร์ และผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจะไม่จำกัดเฉพาะผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นเจ้าของยี่ห้อ (Brand Owners) หากรวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านเบเกอรี่ที่เป็นผู้จัดหาหรือใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ4

เพื่อสนับสนุนให้บริษัทมีการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งสิงคโปร์ (Singapore Manufacturing Federation) ร่วมกับ NEA ดำเนินโครงการ Packaging Partnership Programme (PPP) นำโดยภาคเอกชนและเปิดตัวโครงการ เมื่อปี ค.ศ. 2021 โดย PPP จะเป็นโครงการสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำตามข้อกำหนด MPR ดังกล่าวและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ต่อยอดโครงการจัดการบรรจุภัณฑ์ภาคสมัครใจ (SPA) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี (NEA, 2022)



ที่มา: NEA (2021a)

3.2.3 การจัดการขยะอาหารภายใต้กฎหมาย RSA
สำหรับการจัดการขยะอาหาร (Food Waste) กฎหมาย RSA ได้กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการอาคาร (Building Manager) ที่จะต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่น โดยหากเป็นอาคารใหม่ (ที่ยื่นขออนุญาตหลังวันที่ 1 มกราคม 2021) จะต้องจัดให้มีการจัดการขยะอาหารในอาคาร ส่วนอาคารที่สร้างก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้อาจจะจัดการขยะอาหารในอาคารหรือส่งต่อให้ผู้เก็บรวบรวมขยะอาหารที่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากเป็นอาหารที่ยังทานได้ สามารถส่งต่อให้กับองค์กรที่รับไปกระจายอาหารต่อ (เช่น Food Bank Singapore หรือ Fei Yue Community Service) ส่วนขยะอาหารสามารถส่งต่อให้ผู้เก็บรวบรวมที่จะส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลหรือจัดการขยะอาหารที่ได้รับอนุญาต (NEA, 2022) ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัยต่าง ๆ จำเป็นต้องจัดเตรียมพื้นที่และงบประมาณในการจัดการขยะอาหารที่เกิดขึ้นจากพื้นที่ของตน ไม่ว่าจะจัดการ ณ แหล่งกำเนิดหรือจ่ายค่าจัดการขยะอาหารให้กับผู้เก็บรวบรวม ทั้งนี้ ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ NEA ได้ตั้งกองทุนสนับสนุนการจัดการขยะอาหาร (Food Waste Fund) เพื่อสนับสนุนเงินทุนวงเงินไม่เกิน 100,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ให้กับเจ้าของอาคารหรือผู้ประกอบการในการจัดระบบแยกขยะอาหารและจัดการขยะอาหารทั้งแบบในพื้นที่ของตนหรือส่งต่อไปจัดการนอกพื้นที่ (NEA, 2022) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยสามารถเตรียมความพร้อมและปฏิบัติตามกฎหมายได้มากขึ้น  

รัฐบาลสิงคโปร์โดย NEA มีแผนที่จะพัฒนาระบบมัดจำคืนเงิน (Deposit Refund Scheme: DRS) สำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มภายในปี ค.ศ. 2022 โดยกำหนดให้ระบบ DRS เป็นมาตรการในระยะที่ 1 ของระบบ EPR บรรจุภัณฑ์ที่จะมีการพัฒนาระบบเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2025 ทั้งนี้ NEA เห็นว่า DRS เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่มีการนำมาใช้ในหลายประเทศ อาทิ นอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนี และสามารถเพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มไปรีไซเคิลได้มากกว่าร้อยละ 80 โดย NEA ได้มีการปรึกษาหารือกับภาคอุตสาหกรรมต่อกรอบการดำเนินงานระบบ DRS และในช่วงปี ค.ศ. 2019 ได้มีการทดลองติดตั้งตู้รับคืนบรรจุภัณฑ์ (Reverse Vending Machines: RVM) ประเภทขวดพลาสติก PET และกระป๋องอะลูมิเนียม จำนวน 50 เครื่องทั่วประเทศภายใต้โครงการ Recycle N Save (รูปที่ 2) โดยความร่วมมือระหว่าง NEA และบริษัท F&N มีการให้รางวัลที่หลากหลายจูงใจให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาส่งคืนที่ตู้ ทั้งการสะสมแต้มแลกคูปองส่วนลดหรือแลกการใช้บริการยืมจักรยานฟรี (NEA, 2022)


ที่มา: https://www.straitstimes.com/singapore/environment/refund-based-recycling-of-bottles-and-cans-to-be-legislated-by-2022

นโยบายและกฎหมายจะประสบความสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นต่อนโยบายและกฎหมาย RSA ของภาคเอกชนและภาคประชาชน ดังต่อไปนี้

4.1 ข้อคิดเห็นของภาคเอกชนต่อระบบ EPR และ DRS 
ในปี ค.ศ. 2020 สภาหอการค้านานาชาติแห่งสิงคโปร์ (Singapore International Chamber of Commerce: SICC) ประกอบด้วยสมาชิกกว่า 500 บริษัททั้งที่เป็นบรรษัทข้ามชาติและ SMEs ได้จัดทำเอกสารแสดงจุดยืน (Position Paper) ของ SICC ต่อระบบ EPR บรรจุภัณฑ์และระบบ DRS ในสิงคโปร์ (SICC, 2020) โดย SICC เห็นว่า กรอบการดำเนินระบบ EPR สำหรับบรรจุภัณฑ์ในภาพรวมนั้น ในระยะสั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บรวบรวมและรีไซเคิล ในระยะกลางและระยะยาว ควรเน้นเทคโนโลยีและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง SICC เห็นว่า ระบบ EPR ควรให้การสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่มีมูลค่าสูง และสิงคโปร์จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ได้แนวทางการดำเนินงาน EPR ในระดับภูมิภาคเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตมีการลงทุนในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน6  ส่วนระบบ DRS นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ EPR แต่ DRS จะทำโดยลำพังไม่ได้ หากแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการคัดแยกขยะและรีไซเคิลขยะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งควรมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม EPR ในอัตราที่แตกต่าง (Eco-modulation) เพื่อลดทอนแรงจูงใจในการใช้วัสดุที่ไม่สามารถนำหมุนเวียนได้ กองทุน DRS ควรบริหารจัดการโดยองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (SICC, 2020)


4.2 ข้อคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว 
บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Disposables) ไม่ว่าจะเป็นวัสดุประเภทกระดาษ พลาสติกหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ NEA จึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวอย่างเร่งด่วน นอกจากแผนการพัฒนาระบบ DRS และ EPR แล้ว NEA อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการที่จะให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้นำในการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายใต้โครงการ GreenGov.SG (Begum, 2021) และพยายามส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวร่วมกับภาครัฐ ในช่วงปี ค.ศ. 2020 กระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Sustainability and the Environment: MSE) และ NEA ได้ส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวโดยได้จัดให้มีกิจกรรม Citizen’s Workgroup7 โดยข้อเสนอแนะสำคัญที่ภาคประชาชนได้เสนอและได้รับการพิจารณาจาก NEA คือ ข้อเสนอเรื่องการเก็บเงินค่าถุงหูหิ้ว (Charging for a Bag) โดยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกแห่งในสิงคโปร์เก็บเงินค่าถุงหูหิ้วทุกประเภทเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาขยะและปรับพฤติกรรมของคนสิงคโปร์ อีกทั้งร้านค้าชั้นนำหลายร้าน อาทิ Uniqlo, Watsons, H&M และซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง เช่น NTUC FairPrice ได้เริ่มมาตรการเก็บเงินค่าถุงหูหิ้วแล้วและประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้การสนับสนุนมาตรการเก็บเงินค่าถุงดังกล่าว (NEA, 2021b)


ความคืบหน้าล่าสุด (มีนาคม 2565) ทางกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (MSE) โดยรัฐมนตรี Grace Fu ได้ประกาศแผนที่จะออกมาตรการทางกฎหมายกำหนดให้ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่มีรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2,400 ล้านบาท) จะต้องจัดเก็บเงินค่าถุงหูหิ้วไม่ว่าจะทำด้วยวัสดุประเภทใดอย่างน้อย 5 เซ็นต์ต่อถุง เริ่มตั้งแต่กลางปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำเงินค่าถุงที่จัดเก็บได้ไปใช้สนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลหรือโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนต่าง ๆ และจะต้องมีการรายงานข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับจำนวนถุงหูหิ้วที่จำหน่าย จำนวนเงินค่าถุงที่จัดเก็บได้และการใช้จ่ายเงินค่าถุงนั้น (Lim, 2022)

แม้ประเทศสิงคโปร์จะเป็นที่รู้จักในแง่การจัดการขยะด้วยการเผาขยะเป็นพลังงาน แต่บทความนี้ชี้ให้เห็นว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการลดการสร้างขยะที่แหล่งกำเนิด การจัดการขยะที่ปลายทางจะไม่ยั่งยืนและอาจนำไปสู่วิกฤตในท้ายที่สุด รัฐบาลสิงคโปร์มีแรงกดดันอย่างมากจากข้อจำกัดของหลุมฝังกลบที่มีอยู่แห่งเดียวของประเทศที่รองรับขยะที่เผาไม่ได้และขี้เถ้าจากการเตาเผา จึงได้มีการยกระดับความเข้มข้นของการบริหารจัดการขยะจากเดิมที่เน้นโครงการภาคสมัครใจมาเป็นมาตรการทางกฎหมายและมีการนำหลักการ EPR มาบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้นตั้งแต่การออกแบบและการผลิตไปจนถึงการจัดระบบเก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภค

รายการอ้างอิง
Begum, S. (2021, March 4). Budget debate: Refund-based recycling of bottles and cans to be legislated by 2022. Straitstimes. Retrieved from https://www.straitstimes.com/singapore/environment/refund-based-recycling-of-bottles-and-cans-to-be-legislated-by-2022
Charles, D., Kimman, L. & N. Saran. (2021). The Plastic Waste Makers Index. Minderoo Foundation. Retrieved from https://cdn.minderoo.org/content/uploads/2021/05/27094234/20211105-Plastic-Waste-Makers-Index.pdf 
Fu, G. (2021, August17). Speech of the Minister for Sustainability and the Environment, at the Launch of the Plastics Recycling Association of Singapore. Retrieved from https://www.mse.gov.sg/resource-room/category/2021-08-17-speech-at-the-launch-of-pras/
Kelly, A. (2021, May 18). New report reveals 10 countries generating most plastic waste per person, US not worst. Changing America. Retrieved from https://thehill.com/changing-america/sustainability/climate-change/554090-new-report-reveals-10-countries-generating 
Lim, V. (2022, March 7). Large supermarkets to charge minimum 5 cents for each disposable carrier bag. Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/singapore/coe-prices-premiums-bidding-exercise-mar-9-2022-2550791 
Ministry of the Environment and Water Resources (MEWR)(2019). Zero Waste Masterplan Singapore. National Environmental Agency. Retrieved from https://www.towardszerowaste.gov.sg/files/zero-waste-masterplan.pdf 
National Environmental Agency. (2021a). Mandatory packaging reporting requirements under the Resource Sustainability Act. Retrieved from https://www.nea.gov.sg/docs/default-source/default-document-library/mpr-resource-slides-as-of-31-december-2021.pdf 
National Environmental Agency. (2021b, April 10). Eight Recommendations From Citizens’ Workgroup On Reducing Excessive Consumption Of Disposables Supported And To Be Further Developed. News. Retrieved from https://www.nea.gov.sg/media/news/news/index/eight-recommendations-from-citizens-workgroup-on-reducing-excessive-consumption-of-disposables-supported-and-to-be-further-developed 
National Environmental Agency. (2022). Waste Statistics and Overall Recycling. Retrieved from https://www.nea.gov.sg/our-services/waste-management/waste-statistics-and-overall-recycling  (12 Feb 2022)
Singapore International Chamber of Commerce (SICC)(2020). SICC’s position paler on extended producer responsibility (EPR) for packaging in Singapore. Retrieved from https://www.sicc.asia/wp-content/uploads/2020/09/SICC-Position-Paper-on-EPR-for-Packaging-in-Singapore_Final.pdf 
Zero Waste SG (2020). BYO Singapore. Retrieved from http://www.byosingapore.com/ 
เว็บไซต์รัฐสภา. สาธารณรัฐสิงคโปร์. Retrieved from https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/ac/ewt_dl_link.php?nid=3874&filename=parsystem2
ผู้จัดการออนไลน์. (2564, 9 กันยายน). ขยะพลาสติกล่องหน! ในสิงคโปร์ สูญสลายในวันเดียว. Retri