การอ้างอิง: นิภาพรรณ เจนสันติกุล. (2565). การบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย (Solid Waste Management of Local Administrative Organizations in Thailand). วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 26 (ฉบับที่ 1).


บทความ: การบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย (Solid Waste Management of Local Administrative Organizations in Thailand)

การแก้ไขปัญหาขยะของประเทศไทยถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้มีมติเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ ตามลำดับ ดังนี้ 1) มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 19 สิงหาคม 2557 อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการกำจัดขยะในพื้นที่ และให้กระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศเพื่อให้มีโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะของทุกจังหวัด 2) คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษา เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ลงมติว่ารับทราบผลความคืบหน้าการดำเนินการโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในภาพรวมของประเทศ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการ 3) มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เห็นชอบ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศ โดยเทคโนโลยีแบบผสมผสานเน้นการแปรรูปเป็นพลังงานหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นการส่งเสริมภาคเอกชนลงทุนหรือดำเนินงานระบบเก็บรวบรวมขนส่ง และกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

ปัจจุบันสถานการณ์ขยะในประเทศไทยนั้นถือว่าวิกฤตเนื่องด้วยเหตุผลสำคัญสองประการ คือ 1) มีปริมาณขยะรวมกันทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก พ.ศ. 2551 ที่ 23.93 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 27.06 ล้านตันใน พ.ศ. 2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในช่วงเวลาเดียวกัน จากขยะ 27.06 ล้านตันต่อปี หรือ 74,130 ตันต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยเป็นปริมาณขยะ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน  2) วิธีการกำจัดในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ พบขยะตกค้างสะสมในชุมชนกว่าปีละ 5.67 ล้านตัน ส่วนที่เข้าระบบปีละ 15.76 ล้านตัน ส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 100 กำจัดโดยการฝังกลบ โดยมีบ่อฝังกลบอยู่ 2,810 แห่ง แต่มีเพียง 328 แห่งเท่านั้นที่ฝังกลบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ส่วนที่เหลือกว่าร้อยละ 88 ยังดำเนินการไม่ถูกต้องโดยมีข้อกำจัดทั้งในเรื่องพื้นที่ และงบประมาณในการจัดการ จึงเห็นภาพภูเขากองขยะอยู่ทั่วประเทศไทย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างภาวะโลกร้อน (กรมอนามัย, 2561)

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) ตามที่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอันตรายของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มุ่งสู่การแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวิธีการสำคัญ ได้แก่ การลดการเกิดขยะมูลฝอยหรือขยะอันตรายที่แหล่งกำเนิด การนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่ การเก็บขนขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ การกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานหรือเชื้อเพลิง จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งธนาคารขยะ

ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดทำธนาคารขยะมูลฝอยรีไซเคิลหรือธนาคารขยะฌาปนกิจ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้มีการนำขยะมูลฝอยรีไซเคิลมาสร้างรายได้ผ่านการฝากกับธนาคาร โดยเก็บในรูปแบบของการสะสมในสมุดบัญชีธนาคาร ซึ่งสามารถถอนเป็นเงินสดหรือแลกเป็นของรางวัลที่ต้องการได้ โดยจัดเก็บและรวบรวมไว้เพื่อประสานให้ร้านเข้ามารับซื้อ 

จากแนวทางการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กล่าวข้างต้น นำมาสู่การวิเคราะห์การบริหารจัดการขยะ โดยผู้เขียนนำ CIPP Model มาใช้ในการอธิบายเนื่องจากเป็นรูปแบบการประเมินที่เน้นการตัดสินใจ ซึ่งนำเสนอโดย Daneil L. Stufflebeam โดยมีจุดเน้นสำคัญเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารโครงการ คำว่า CIPP ย่อมาจาก C: Context (บริบท หรือสภาวะแวดล้อม) I: Input (ปัจจัยเบื้องต้น) P: Process (กระบวนการ) และ P: Product (ผลผลิต) ซึ่ง Stufflebeam ให้ความหมายการประเมินไว้ว่าเป็นกระบวนการของการบรรยาย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม (ภูมิศักดิ์ ราศรี, 2556) โดยมีรายละเอียดการประเมินการบริหารจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

2. การประเมินปัจจัยนำเข้า พบว่า มีส่วนที่สำคัญสองส่วน คือ 2.1) ด้านนโยบายและกฎหมาย ได้แก่ มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และ 2.2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น สอดคล้องกับ พัชรี สินเจริญ (2562, หน้า 1-2) ที่ระบุว่าการจัดการขยะมูลฝอยในประเทศไทยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 250 ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และมาตรา 258 จัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 34/1 การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในเขตพื้นที่ของราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด พระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 มาตรา 18 การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติในมาตรา 17 (11) และมาตรา 17 (12) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่ในการจัดระบบกำจัดขยะมูลฝอยรวมและการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่าง ๆ และบทบัญญัติในมาตรา 16, 17 และ 18 กำหนดให้เทศบาล เมืองพัทยาและองค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่ในการจัดระบบการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย

4. การประเมินผลผลิต พบว่า ผลผลิตจากการมีกระบวนการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ คือ 4.1) การลดปริมาณขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4.2) การจัดเก็บและขนส่งขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมีประสิทธิภาพ 4.3) การบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายมีความถูกต้องและสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ 4.4) การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ 4.5) ชุมชนปลอดขยะ 4.6) กองทุนธนาคารขยะประชารัฐ 4.7) คุณภาพชีวิตของประชาชน 4.8) องค์ความรู้ด้านการจัดการขยะ 4.9) นวัตกรรมและมาตรการในการจัดการขยะ

ตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการจัดการขยะ
2. เทศบาลตำบลท่าทองจัดผ้าป่าขยะรีไซเคิลต่อชีวิตช่วยผู้ป่วยติดเตียง เป็นโครงการผ้าป่าขยะรีไซเคิล “ขยะต่อชีวิต” ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ส่งเสริมความเอื้ออาทรกันในชุมชน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยด้อยโอกาสในตำบลท่าทองมีจำนวน 32 ราย จาก 11 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะยากจน การรับบริจาคขยะรีไซเคิลเป็นสิ่งที่คนในชุมชนช่วยเหลือกันเองโดยนำขยะไปขาย นำรายได้ทั้งหมดสมทบกองทุนขยะต่อชีวิต เป็นการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่และกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน เป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมในตำบลท่าทองอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบได้ (พิษณุโลกฮอตนิวส์, 2562) โดยผ้าป่ารีไซเคิลมีข้อดี คือ มีความเชื่อมโยงกับวิถีการดำรงชีวิตผูกพันกับพิธีกรรมทางศาสนาและให้ความสำคัญกับสถาบันทางศาสนาในแง่ของการเป็นศูนย์กลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดและการเรียนรู้ต่าง ๆ (เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม, อานุภาพ รักษ์สุวรรณ และดนุสรณ์ กาญจนวงศ์, 2563, หน้า 22)

จากการวิเคราะห์ CIPP Model และตัวอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้านการจัดการขยะสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ เริ่มจากบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้ความรู้และขับเคลื่อนกลไกการคัดแยกขยะอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งนี้อำนาจและหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ผลที่ได้จากการดำเนินงานจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่ แต่จะช่วยให้แต่ละพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรการหรือสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ