สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 6 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ  ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ นับเป็นหน่วยงานแรกที่มีการทำงานแบบบูรณาการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำริ  ในหลายวโรกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุแบบผสมผสาน บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการคณะต่างๆ โดยยึดแผนแม่บทเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินงานทุก ๆ กิจกรรมเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และเพื่อเป็นการสนองเบื้องพระยุคลบาท และยังให้ความสำคัญกับการขยายผลการพัฒนาไปสู่พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านที่ดินทำกิน ทั้งมีพระบรมราโชบายในการเสริมสร้างการเรียนรู้แก่ประชาชน ในชนบท เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับ “พออยู่พอกิน” โดยยึด “คน” เป็นหลักในการพัฒนา  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ แห่งนี้จึงเป็น แหล่งเรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา ทั้งด้านดิน น้ำ พืช สัตว์ ประมง ป่าไม้ อุตสาหกรรม และการสาธารณสุข โดยได้รวบรวมและจัดแสดงไว้ในรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” คือ มิได้เป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งของเท่านั้น หากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และยังเป็น “ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ” ในด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และดินพรุ ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด  พร้อมทั้งนำผลสำเร็จของโครงการนี้ไปเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรให้รู้จักวิธีการทำมาหากิน รู้จักใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพอันนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและดินทรายจัดในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่อื่นๆ เพื่อการเกษตร ต่อไป

...เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่คนทุกระดับสามารถที่จะมาดูจะว่าเป็นโรงเรียนก็ไม่ใช่  แต่ว่าเป็นที่มาดูมาศึกษาก็ได้  คือเป็นทัศนศึกษา  พานักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยก็ตาม หรือไม่ใช่นักเรียน เป็นข้าราชการทุกชั้นตั้งแต่ชั้นผู้น้อยมาจนถึงชั้นผู้ใหญ่ทุกระดับทุกอย่าง คือหมายความว่า ทุกหน้าที่สามารถมาดูในแห่งเดียวกัน วิธีการที่จะพัฒนาในสาขาต่างๆ ของวิชาการ  อันนี้เท่ากับเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่จะมาดูอะไรมีวิชาการใด  ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา  นอกจากนั้นไปดูศูนย์ศึกษาก็ไปหย่อนใจก็ได้ เพราะว่าทำงานเครียด ก็ไปเที่ยวศูนย์ศึกษาเหมือนไปเที่ยวสวนสาธารณะ ก็ได้  ได้ความรู้ด้วย  นี่แหละเป็นหลักของศูนย์ศึกษาการพัฒนา...

   

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ที่เรียกว่า ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้บริการคณะที่มาเที่ยวชมงานได้ศึกษา เรียนรู้ด้านต่างๆ  ได้แก่

ด้านดิน 
ด้านปศุสัตว์
 

ด้านประมง  
ด้านพืช 
 

ด้านป่าไม้
ด้านหัตถกรรมอุตสาหกรรม
ด้านสาธารณสุข

สวน 50 ปี ครองราชย์ จัดเป็นสวนรวบรวมพืชตระกูลปาล์ม กว่า 60 ชนิด เช่น สิบสองปันนา ช้างไห้ ปาล์มแสด มะแพร้ว ฯลฯ สวน 72 พรรษา ซึ่งจัดเป็นสวนรวบรวบพันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น ต้นธัมมัง ไม้ค้อนตีหมา มะม่วงหาวมะนาวโห่ ไข่เน่า พืชสมุนไพรนานาชนิด สวนไม้มงคลเฉลิมพระชนม 76 พรรษา สวนสาธิตการเฉลิมเกียรติ 80 พรรษา สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา และ สวนพฤกษศาสตร์พรรณไม้ม่วงเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558  มีการรวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีสีม่วงทั้ง ใบ ดอก ผล และหัว และจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อให้ผู้ศึกษาชมงาน มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้คงอยู่สืบไป

พิพิธภัณฑ์ดิน เพื่อให้ผู้มาเที่ยวชมงานได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับดินที่มีปัญหาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ทรงให้ความสำคัญในการจัดการดิน และมีพระอัจฉริยภาพด้านดินจนเป็นที่ประจักษ์ ทำให้เกษตรกรได้รู้จักใช้ที่ดินในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และพระราชกรณียกิจด้านดินในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และการใช้ปุ๋ยหมักปรับปรุงบำรุงดิน ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชา ไปเผยแพร่และถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ จนประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพ

 

ระบาทสมเด็จพระปรมินทร  มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงปราดเปรื่องในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการเกษตร ซึ่งกิจกรรมการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ทำการศึกษาตามแนวพระราชดำริ  ที่พระองค์ได้พระราชทานมาอย่างต่อเนื่องนั้น นับเป็นศาสตร์แห่งพระราชา นำพาเกษตรกรไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง อันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกร และประเทศชาติอย่างมากมายนับเป็นศาสตร์ ที่ทรงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ ควรแก่การจดจำและบันทึกลงในจิตใจของเหล่าพสกนิกรชาวไทย ตราบนิจนิรันดร์