ณัฐพงศ์ ตันติวิวัฒนพันธ์
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


“Every solutions create the other problems” หรือแปลเป็นไทยว่า “ทุกๆ การแก้ไข ก่อให้เกิดอีกหลายๆ ปัญหา” คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการกระทำ หรือกิจกรรมที่เลือกใช้ในการแก้ไขปัญหา จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา คำตอบคือ มันไม่ทางที่การกระทำสิ่งหนึ่ง จะไม่ส่งผลกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่ง และนิยามของคำว่า “ปัญหา” ของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ คือการลดผลกระทบของปัญหาที่ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ถูกละเลยมานาน คือปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เป็นเหตุให้ปัจจุบันผลกระทบเหล่านั้นย้อนกลับมายังมนุษย์เราเอง เช่น สภาวะโลกร้อน การลดลงของชั้นโอโซน เหตุการณ์น้ำท่วม และไฟป่า เป็นต้น ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นแรงขับดันให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือ หลักการการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment; LCA)

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราต้องทำละเอียดขนาดไหน? ยกตัวอย่างเช่น จะดูแค่เฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระหว่างกระบวนการผลิต หรือว่า จะดูไปถึงตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ (การปลูกฝ้ายดิบ และการขุดเจาะน้ำมันดิบที่ใช้ผลิตพลาสติก) แล้วเราจะต้องคำนึกถึงเวลาที่ต้องขนส่งวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภคด้วยหรือเปล่านั้น คำตอบนี้ “ไม่มีตายตัว” ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการประเมินวัฏจักรชีวิต เพื่อจะได้สามารถตีกรอบการเก็บข้อมูลทำบัญชีทางสิ่งแวดล้อม และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด และแต่ละชนิดก็มีวิธีการคำนวณและการประเมินที่แตกต่างกัน (ขึ้นอยู่กับประเทศ และช่วงเวลาในการคำนวณ) ซึ่งด้วยขอบเขตและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันนี้เอง ทำให้ผลสรุปของการทำ LCA ได้ผลสรุปที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเนื้อในของการทำ LCA ของแต่ละโครงการครับ เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง และไม่บิดเบือน

รายงานประเทศเดนมาร์ก จัดทำขึ้นเพื่อที่จะเลือกวิธีการจัดการถุงหิ้วจ่ายตลาด (Grocery carrier bag) ที่ทำมาจากวัสดุหลากหลายชนิด (รูปที่ 1) รวมถึงผลกระทบของการใช้ถุงหิ้วเหล่านั้นต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในตัวรายงานได้สรุปว่า การใช้ถุงหิ้วจ่ายตลาดชนิดถุงผ้าฝ้าย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้ถุงพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ หรือถุงเย็น ที่เราเรียกกันในท้องตลาด (Low Density Polyethylene; LDPE) โดยในการประเมินระบุไว้ว่าจะต้องใช้ถุงผ้าฝ้าย มากกว่า 20,000 ครั้ง เพื่อที่จะลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เท่ากับการใช้ถุงเย็น 1 ครั้ง โดยคิดจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ถุงผ้าฝ้ายส่งผลกระทบสูงสุด คือ การลดลงของชั้นโอโซนในบรรยากาศ (Ozone depletion) ดังที่แสดงใน ตารางที่ 1


ตารางที่ 1 จำนวนถุงที่ต้องใช้ซ้ำของถุงผิ้วแต่ละชนิด เพื่อให้ได้ค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเทียบเท่ากับการใช้ถุง LDPE 1 ครั้ง

การมองกรอบที่ใช้ในการประเมินที่แตกต่างกันออกไป นี่คืออีกหนึ่งในเสน่ห์ของการประเมินวัฏจักรชีวิต ซึ่งในงานเขียนฉบับนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะสอนให้ผู้อ่านได้รู้จักโลกของการประเมินวัฏจักรชีวิต 

การตั้งวัตถุประสงค์ของการทำ LCA เป็นขั้นตอนที่จะเป็นตัวตัดสินใจในการเก็บข้อมูลทางสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น สำหรับการตั้งวัตถุประสงค์นั้นมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ กิจกรรม หรือบริการ (เช่น ปริมาณการปลดปล่อย CO2 ต่อการผลิตน้ำ 1 ลิตร) เพื่อระบุกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด (Hot spot) สำหรับพัฒนากิจกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ กิจกรรม หรือบริการ ของเรากับของคู่แข่ง เป็นต้น สำหรับในรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของประเทศเดนมาร์กนั้น วัตถุประสงค์ของโครงการนี้มีด้วยกัน 3 วัตถุประสงค์