การอ้างอิง: มงคลชัย อัศวดิษฐเลิศ, ภุมรินทร์ คำเดชศักดิ์, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ, ดนัย ทิพย์มณี, ลักษณา เหล่าเกียรติ. (2565). โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล การปรับตัวสู่การผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 26 (ฉบับที่ 2).


บทความ: โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล การปรับตัวสู่การผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืน

อุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการลดการใช้ทรัพยากรน้ำมันดิบเพื่อผลิตพลาสติกใหม่ซึ่งต้องใช้พลังงานและทรัพยากรสูงกว่ามากหลายเท่าตัว นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีที่ลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นใหม่และลดปัญหาของหลุมฝังกลบ อย่างไรก็ตาม พบว่าอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติกและโรงงานพลาสติกมักมีอุบัติเหตุอย่างการระเบิดและอัคคีภัยบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของฝุ่น ควัน และมลพิษทางอากาศอื่น ๆ อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อชุมชนใกล้เคียงซึ่งเป็นความเสียหายต่อสุขภาพในระยะยาว และอาจถูกลงโทษจากมาตรการที่เข้มงวด

มาตรา 96 แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย แก่ชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใด ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย...

ดังนั้นการควบคุมความเสี่ยง หรือการลดความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรตระหนักในฐานะผู้ผลิตที่มีมาตรฐานในเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) คณะวิจัยเล็งเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศตามหลักเศรษฐกิจโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG โมเดล ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยเฉพาะ C ย่อมาจาก Circular economy คือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ G ย่อมาจาก Green economy คือ ระบบเศรษฐกิจสีเขียวซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน จึงได้มีการศึกษาในโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งแม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกและรีไซเคิลพลาสติกมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น แต่มักเป็นกิจการขนาดเล็กหรือระดับครัวเรือน ที่มีองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อยหรือไม่มีเลย บทความนี้เป็นผลการเก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกโดยเฉพาะกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด พอลิโพรพิลีน (Polypropylene; PP) และพอลิเอทิลีน (Polyethylene; PE)  และการวิเคราะห์ความเสี่ยงอันเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การสร้างวิธีการควบคุมและป้องกันที่เหมาะสม

กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยสังเขป

ขั้นตอนของกระบวนการผลิตที่ได้จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ในสถานประกอบการ เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการรับและเก็บกองวัตถุดิบ การคัดแยกเศษพลาสติก การล้างเศษพลาสติก การบดตัดพลาสติก การหลอมรีด หล่อเย็นและการตัดเม็ด ตลอดจนการจัดเก็บผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก โดยการระบุสิ่งคุกคามที่พบในแต่ละกระบวนการผลิตข้างต้นจะครอบคลุมทุกประเภทภัยคุกคาม ได้แก่ สิ่งคุกคามด้านกายภาพ เช่น เสียง ความร้อน แสงสว่าง ทั้งนี้ ระดับของความเสี่ยงในแต่ละภัยคุกคามแตกต่างกันขึ้นกับโอกาสที่สิ่งคุกคามจะทำให้เกิดอันตราย ความรุนแรงของอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยผลการศึกษามีการเปรียบเทียบกับค่าตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีรายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 2


ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์แสงสว่าง เสียง และความร้อนของโรงงานที่ศึกษาเปรียบเทียบกับค่ามาตรฐาน

ผลการตรวจวัดระดับความเข้มเสียงในพื้นที่ปฏิบัติงานของสถานประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล พบว่าทุกจุดของการตรวจวัดมีค่าไม่เกินมาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน (TWA8 = 85 เดซิเบลเอ) และพนักงานได้รับสัมผัสเสียงในบริเวณสถานประกอบกิจการที่มีระดับเสียงสูงสุดไม่เกิน 140 เดซิเบลเอ เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฯ แต่อย่างไรก็ตามจุดบดตัด ดังรูปที่ 2 (ก) เป็นจุดที่ค่าระดับเสียงสูงสุด 97.7-102.2 เดซิเบลเอ ซึ่งหากมีพนักงานทำงานในจุดนี้ ควรมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้แก่พนักงาน ดังตัวอย่างที่แสดงในรูปที่ 2 (ข)


ผลการตรวจวัดระดับความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงานของโรงงาน/สถานประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล พบว่ามีค่าอยู่ในช่วง 31.90-34.63 องศาเซลเซียส ซึ่งมีค่าสูงกว่ามาตรฐานระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการตามลักษณะของ “งานหนัก” ตามที่ระบุไว้ในมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 ตามกฎกระทรวงแรงงานซึ่งไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส ดังนั้น สถานประกอบการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลควรพิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาวะทำงาน หรือลดภาระงาน รวมถึงปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรอุปกรณ์ กระบวนการผลิต วิธีการทำงานหรือการดำเนินการใด ๆ ที่อาจมีผลต่อการลดระดับความร้อนในพื้นที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น จัดหาพัดลมระบายอากาศ จัดหาตู้กดน้ำในสถานที่ใกล้เคียงที่เหมาะสม สลับพนักงานลดการทำงานต่อเนื่องในจุดที่มีแหล่งกำเนิดความร้อน เช่น จุดหลอม เป็นต้น โดยเฉพาะฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ


ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามดัชนีคุณภาพน้ำ ได้แก่ pH, TDS, BOD, COD, Alkalinity และ TOC ในโรงงานที่ 1 จากกระบวนการล้างพลาสติกที่ตัดละเอียดแล้ว และกระบวนการหล่อเย็น แล้วนำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 (กระทรวงอุตสาหกรรม, 2560)

ตารางที่ 3 ผลการวิเคราะห์น้ำล้างและน้ำทิ้งจากกระบวนการล้างพลาสติกจากโรงงานที่ 1

สอดคล้องกับผลที่ได้จากน้ำเสียและน้ำหล่อเย็น จากการวิเคราะห์คุณภาพอากาศพบสารอินทรีย์ที่คล้ายกัน แต่พบว่ายังพบสารอันตราย ได้แก่ ฟอร์มัลดีไฮด์ อีกด้วย (ตารางที่ 5) อย่างไรก็ตามผลการศึกษานี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ จึงไม่สามารถระบุถึงปริมาณได้ นอกจากนี้การรับสัมผัสผ่านการสูดดมสารมลพิษความเข้มข้นต่ำเป็นระยะเวลานาน เช่น เฮกเซน เป็นต้น อาจจะทำให้เกิดการชาที่แขนขา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาพร่ามัว ปวดหัว และเมื่อยล้าได้ (EPA, 2016) อันส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพนักงานขณะปฎิบัติงาน จากการศึกษาโรงงานที่หลอม PP และ PE อื่น ๆ พบว่ามีการพบสารอินทรีย์ระเหยได้ชนิดโทลูอีนอีกด้วย (Ansar และคณะ, 2564)


นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่คณะผู้วิจัยทำการศึกษาในภาพรวมและเห็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ ดังแสดงในรูปที่ 2 และ 4 ได้แก่

สำหรับแนวทางจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมรีไซเคิลพลาสติก สามารถสืบค้นได้เพิ่มเติมจากหนังสือคู่มือ “แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกิจการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลขนาดเล็กชนิด PE และ PP” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ https://eric.chula.ac.th/ research# หรือ QR code ในรูปที่ 5


ทางคณะวิจัยขอขอบคุณทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย โครงการจัดการความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์เชิงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2562 ในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PE และ PP