บทความ: ถอดเกร็ดความรู้จากการสัมมนาวิชาการ “My building is killing me: How to grow fresh indoor air”

วิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ร่วมกับศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย (Thailand network center on Air Quality Management : TAQM) ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “My building is killing me: How to grow fresh indoor air” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ด้านการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารซึ่งมีหลากหลายมิติ โดยมีวิทยากรบรรยาย 3 ท่าน คือ ผศ.ดร.ตุลย์ มณีวัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.มณีรัตน์ องค์วรรณดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สรุปสาระสำคัญจากการบรรยายดังนี้


องค์การอนามัยโลกได้รายงานจำนวนประชากรทั่วโลกที่เสียชีวิตในปี 2559 จากมลพิษทางอากาศในบรรยากาศ (ambient air pollution) 4.2 ล้านคน/ปี และจากมลพิษทางอากาศภายในอาคาร (indoor air pollution) 3.8 ล้านคน/ปี  มลพิษอากาศภายในอาคารยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของคนที่อยู่ในอาคารที่เรียกว่า building related illness (BRI) คือโรคที่สามารถหาสาเหตุของการเจ็บป่วยได้ชัดเจน เช่น ไข้หวัดจากเชื้อไวรัส วัณโรคจากเชื้อ M. tuberculosis ผิวหนังอักเสบ จมูกอักเสบ จากไรฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น มลพิษอากาศในอาคารยังก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้หรือที่เรียกว่า sick building syndrome (SBS) เป็นกลุ่มอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค เช่น ระคายเคืองตา/จมูก น้ำตาไหล คัดจมูก คอแห้ง แสบคอ แน่นหน้าอก หายใจคัด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ผิวแห้ง ผื่นคัน เป็นต้น1


โดยทั่วไปการควบคุมมลพิษอากาศภายในอาคารประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ (1) การควบคุมที่แหล่งกำเนิด (source control) ก่อนที่จะมีการปลดปล่อยมลพิษออกสู่บรรยากาศในอาคาร  ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการกำจัดมลพิษเมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศแล้ว (2) การระบายอากาศ (ventilation) มีสองรูปแบบด้วยกัน คือ การนำมลพิษอากาศในอาคารออกนอกอาคาร และการนำอากาศสะอาดจากภายนอกมาเจือจางมลพิษอากาศภายในอาคาร และ (3) การทำความสะอาดอากาศที่ปนเปื้อนหรือการฟอกอากาศ (air cleaning)2


ที่มา: ASHRAE standard 62.1-2016 
https://www.ashrae.org/technical-resources/bookstore/standards-62-1-62-2

การทำความสะอาดอากาศด้วยเครื่องฟอกอากาศเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอาคารบ้านเรือน สามารถจำแนกเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ (portable air purifier) ตามหลักการทำงานของเครื่องออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) เครื่องฟอกอากาศแบบใช้ไส้กรองทางกล (mechanical air filter) เช่น เครื่องฟอกอากาศแบบ HEPA (high efficiency particle air filter)  ซึ่งฝุ่นละอองในอากาศจะถูกกำจัดออกด้วยแผ่นกรองที่ติดตั้งในตัวเครื่อง และ (2) เครื่องฟอกอากาศโดยใช้หลักการทางไฟฟ้า (electronic air cleaner) เช่น เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิตย์ (electrostatic precipitator) และเครื่องฟอกอากาศแบบสร้างอิออน (ionizer) ซึ่งมีกระบวนการทำให้อนุภาคฝุ่นเกิดประจุไฟฟ้าที่ผิว แล้วเกิดการเคลื่อนที่ด้วยแรงทางไฟฟ้ามาติดที่แผ่นโลหะดักในตัวเครื่อง เครื่องฟอกอากาศประเภทใช้หลักการทางไฟฟ้ามักได้รับการโฆษณาจากบริษัทผู้ขายว่าประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเครื่องฟอกอากาศแบบใช้ไส้กรองทางกลเพราะไม่ต้องใช้ไส้กรองดักจับฝุ่น อย่างไรก็ดี เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าสถิตย์ขณะที่มีการใช้งานเครื่องจะมีการผลิตก๊าซโอโซนขึ้น ซึ่งก๊าซโอโซนจัดว่าเป็นก๊าซพิษสามารถทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ ถึงแม้ว่าเครื่องฟอกประเภทนี้บางรุ่นที่ขายในท้องตลาดจะติดตั้งสารดูดซับก๊าซโอโซนก็ตาม ผลการทดสอบในงานวิจัยก็ยังสามารถวัดปริมาณโอโซนที่ถูกปล่อยออกมาจากตัวเครื่องฟอกขณะเปิดใช้งาน นอกจากนี้การใช้เครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ร่วมกับการใช้สารให้ความหอม (air freshener) ที่มักใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่น เช่น  เทอร์พีน (terpenes) ให้กลิ่นส้ม มะนาว ปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างโอโซนและสารเคมีเหล่านี้สามารถก่อสารมลพิษอื่นๆ ตามมา เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) อะเซทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) อะซิโตน (acetone) เป็นต้น รวมทั้งก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับนาโนเมตร (ultrafine particle) นอกจากการใช้เครื่องฟอกอากาศปัจจุบันเริ่มมีการใช้ต้นไม้ในการฟอกอากาศในอาคาร สำหรับการใช้ต้นไม้ประดับฟอกอากาศในอาคารนั้นยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการดักจับฝุ่นละอองหรือการดูดซับก๊าซมลพิษด้วยต้นไม้จะเกิดขึ้นที่ใบเป็นหลัก ดังนั้นยิ่งพื้นที่ใบที่สัมผัสกับมลพิษอากาศเพิ่มขึ้นมากเท่าไร โอกาสที่ต้นไม้จะกำจัดมลพิษก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งต้องใช้การออกแบบจัดวางในแนวดิ่งหรือที่เรียกว่า ‘กำแพงเขียว (green wall)’ บวกกับการใช้พลังงานบังคับการเคลื่อนที่ของอากาศให้ไหลผ่านกำแพงเขียวจะช่วยเพิ่มจำนวนครั้งของอากาศที่ถูกฟอกด้วยต้นไม้2


หนึ่งในหน่วยงานราชการที่มีบทบาทในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารสาธารณะของประเทศไทย คือ กรมอนามัย ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนสุขภาพดี โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานในส่วนของการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคาร เช่น การสำรวจแผนการจัดทำมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella pneumophila) ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) และโรคไข้ปอนเตียก (Pontiac fever) และจัดทำประกาศกรมอนามัย เรื่องข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลีจิโอเนลลาในหอผึ่งเย็นของอาคารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 กรมอนามัยยังจัดทำหลักเกณฑ์และมาตรฐานควบคุมเหตุรำคาญและกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประเภทกิจการโรงแรม และจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานเพื่อการตรวจประเมินคุณภาพอากาศภายในอาคารสำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ทำงานเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร1


ที่มา: http://www.siamsafety.com/index.php?page=environment/environment05montrealprotocolindex

โดยสรุปการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ดูแลอาคารสาธารณะ ผู้อาศัยหรือผู้ใช้อาคาร ถึงความเสี่ยงทางสุขภาพจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมและคุณภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติในการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษในอาคาร พร้อมกับการออกแบบ ควบคุม และดูแลระบบการระบายอากาศของอาคารอย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐต้องมีนโยบายสาธารณะสำหรับใช้ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในอาคาร เช่น นโยบายฉลากเขียวสำหรับวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ในอาคารที่ปล่อยสารมลพิษสู่อากาศต่ำ (green label for low emission indoor materials) เป็นต้น รวมทั้งการวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อมภายในอาคารของประเทศไทย สำหรับเป็นฐานความรู้/ข้อมูลที่สำคัญเพื่อใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย การส่งเสริม มาตรการควบคุม สำหรับการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารของประเทศไทยตามบริบทที่แท้จริง