หน้ากากกันฝุ่น กับ PM2.5

เมื่อต้นปี 2562 กรุงเทพมหานครเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) โดยอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศชั้นบนสูงกว่าชั้นบรรยากาศชั้นล่างที่เราอาศัยอยู่กัน ซึ่งโดยปกติแล้วอากาศร้อนจะเบากว่าอากาศเย็น เมื่ออากาศข้างล่างเกิดเย็นกว่าอากาศชั้นบน จึงทำให้อากาศจากบรรยากาศชั้นล่างไม่อาจพัดพาไปยังชั้นบนได้ ทำให้อากาศค่อนข้างนิ่ง ลมไม่พัดเป็นระยะเวลาหลายวัน ปรากฏการณ์แบบนี้เมื่อเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศมาก จะทำให้มลพิษที่ปล่อยออกมาสะสมอยู่ในอากาศจนเกิดปัญหาสุขภาพ


PM ย่อมาจากคำว่า Particulate matter ส่วน 2.5 นั้นหมายถึง ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (1 ไมโครเมตร = 0.001 มิลลิเมตร) รวมกันเป็น PM2.5 หมายถึง ฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ฝุ่นพวกนี้เกือบทั้งหมดไม่ใช่ฝุ่นดิน หรือขี้เถ้า แต่เป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ การก่อตัวขึ้นในภายหลังโดยปฏิกิริยาต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง สูบบุหรี่ เผากระดาษ ปิ้งย่างอาหาร เป็นต้น ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาอยู่ในกรุงเทพฯ มีการศึกษาพบว่าเกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก และรองลงมาเป็นการเผาในที่โล่ง ขนาดของฝุ่นนี้เล็กมากจนสามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดและซึมเข้าสู่ร่างกายได้ จึงอันตรายกว่าฝุ่นทั่วไปมาก

ความตระหนกก่อให้เกิดประเด็นเรื่องหน้ากากกันขึ้นมา และมีผู้รู้ผู้มีประสบการณ์หลายท่านออกมาบอกถึงข้อกำจัดต่างๆ ของหน้ากาก ทำให้มีข้อมูลมากมายหลากหลาย สร้างความสับสนพอควร ในบทความนี้ ก็จะขอนำเอาข้อมูลจากผู้รู้ที่ได้แชร์ไว้มากมาย มาอธิบายร่วมกับการนำงานวิจัยที่มีผู้ทำไว้มาเสริมให้เป็นองค์ความรู้กันครับ


จากการเดินสำรวจในร้านต่างๆ พบว่า หน้ากากกันฝุ่นที่มีขายกันอยู่ในท้องตลาด มีอยู่ 3 ชนิดหลักๆ คือ 1) หน้ากาก N95 2) หน้ากากอนามัย และ 3) หน้ากากผ้า

ความสามารถในการกรองโดยเส้นใยของหน้ากากต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่า หน้ากาก N95 ดีที่สุด รองลงไปเป็นหน้ากากอนามัย โดย หน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุด อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงนั้น การใส่หน้ากากให้พอดีกับใบหน้ากลับไปปัจจัยสำคัญในการกรองฝุ่นไม่ให้สูดหายใจเข้าไป โดยได้ยกผลการวิจัยมาเล่าให้ฟังพอให้เห็นภาพดังนี้

ในการทดสอบกับฝุ่นจำลอง พบว่า 1) หน้ากาก N95 ไม่สามารถกรองฝุ่นได้มากกว่า 95% ตามที่ควรจะเป็น แต่มีประสิทธิภาพอยู่ในช่วง 65-95% ส่วนหน้ากากผ้ายี่ห้อหนึ่ง มีประสิทธิภาพ 80-95% ใกล้เคียงกับ N95 แต่อีกสองยี่ห้อมีประสิทธิภาพต่ำ คือ 20-85% ส่วนหน้ากากอนามัยอยู่ในช่วง 65-100% 2) โดยรวมแล้วประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดใหญ่จะดีกว่าขนาดเล็ก และ 3) อัตราการไหลของอากาศต่ำจะมีประสิทธิภาพในการกรองดีกว่า ส่วนผลการทดสอบกับไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล พบว่าผลการตรวจวัดฝุ่นขนาดต่างๆ ที่เล็ดออกออกไปค่อนข้างแกว่งไม่ค่อยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แต่โดยรวมแล้วประสิทธิภาพต่ำกว่าการทดสอบกับฝุ่นจำลองมาก แม้แต่หน้ากาก N95 โดยยี่ห้อแรกลดลงเหลือเพียง 50-80% ในขณะที่อีกยี่ห้อหนึ่งเหลือเพียง 30-50% ส่วนหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพราว 15-60% และเป็นที่น่าสังเกต คือ หน้ากากอนามัยกลับมีประสิทธิภาพในการกรองไอเสียสูงถึงราว 80%

ทำให้เรื่องความแนบพอดีกับใบหน้าเป็นเรื่องที่สำคัญ

ผลการทดสอบกลับพบว่า ไม่มีหน้ากากแบบใดเลยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และไม่มีแบบไหนผ่านการทดสอบความรับเข้ากับใบหน้าอีกด้วย

ผลการศึกษาข้างต้น ชี้ให้เห็นว่านอกจากประสิทธิภาพของเส้นใยกรองแล้ว
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ความรับเข้ากับใบหน้า 
หรือพูดอีกอย่างก็คือ ผู้สวมใส่ต้องใส่หน้ากากให้มิดชิดเข้ากับหน้าผู้ใส่ด้วย

ผู้เขียนเองได้ใช้หน้ากาก N95 มาหลายวันพบว่าอึดอัดมากจริงๆ สักราวครึ่งชั่วโมงก็จำเป็นต้องแง้มบ้าง เพราะเหนื่อยกับการหายใจพอควรทีเดียวครับ เลยใส่ได้แค่ตอนเดินทางมาทำงานและเดินทางกลับครับ ใช้อยู่สองสามวันก็เปลี่ยนมาใช้หน้ากากอนามัยแทน