บทความ: ทบทวนบทบาทของอาคารในการส่งเสริมสุขภาพของผู้อยู่ในอาคาร – ปัจจัยด้านการระบายอากาศ (Rethinking the role of building in promoting occupants’ health: In a view of ventilation)

กล่าวทิ้งท้ายไว้ในบทความที่แล้ว [1] คนเมืองใช้เวลาอยู่ในอาคารเกือบทั้งวันจนมีคำกล่าวว่าเป็น ‘มนุษย์พันธุ์ในอาคาร หรือ Indoor species’ ดังนั้นการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับสุขภาวะของคนในสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ประกอบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นการแพร่กระจายเชื้อทางละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ (Airborne transmission) อาคารลักษณะปิดจึงถูกจัดเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในอากาศได้ง่ายกว่าพื้นที่เปิดโล่ง การจะทำให้คนในอาคารมีสุขภาวะที่ดีจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องเริ่มจากการสร้าง ‘อาคารสุขภาพดี หรือ Healthy building’ คืออาคารที่ไม่เพียงแค่สามารถป้องกันอันตรายจากสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ ต่อสุขภาพของคนในอาคารเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของคนในอาคารได้อีกด้วย 

ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่โลกเผชิญวิกฤติพลังงานโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำมันในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทำให้เกิดการตื่นตัวเป็นอย่างมากในการพยายามอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งพลังงานที่ใช้กับอาคารเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความพยายามลดและประหยัด ประเทศไทยเองมีการออกพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีหมวดที่กล่าวถึงการอนุรักษ์พลังงานในอาคารด้วยเช่นกัน [3] ส่วนในฮ่องกงมีแรงกดดันให้ผู้ออกแบบอาคารทำอย่างไรก็ได้ในการลดการใช้พลังงานในอาคาร โดยผู้ดูแลอาคารได้รับคำแนะนำให้ลดการนำอากาศสะอาดจากภายนอกเข้าสู่อาคาร ให้ปรับอุณหภูมิภายในอาคารให้สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนและปรับให้ต่ำลงในฤดูหนาว รวมถึงการลดการใช้แสงสว่าง มาตรการดังกล่าวทำให้เกิดการร้องเรียนของผู้ใช้สอยอาคารต่อสภาพอากาศในอาคารที่แย่ [4] ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการสำรวจโดยสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ (National Institute of Occupational Safety and Health, NIOSH) ระหว่างปี 1978 ถึง 1985 ในอาคารสาธารณะ ซึ่งพบข้อร้องเรียนการเจ็บป่วยของผู้ใช้สอยอาคารที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการอาคารป่วย (Sick Building Syndrome, SBS) ที่มากที่สุดคือการระคายเคืองตาพบถึง 81 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนอาคารที่สำรวจ 356 อาคาร รองลงมาคือ คอแห้ง และปวดศีรษะ โดยสาเหตุหลักมาจากการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการอนุรักษ์พลังงานในยุคนั้นอันได้แก่ การลดหรือไม่นำอากาศสะอาดจากภายนอกเข้ามาเติมในอาคาร การพยายามทำให้กรอบอาคารมีอากาศรั่วไหลน้อยที่สุดจนเกิดคำศัพท์ ‘Tight building’ หรือ ‘อาคารทึบ’ การเปิดและปิดระบบระบายอากาศเพื่อให้มีระยะเวลาใช้งานน้อยกว่าเวลาการอยู่อาศัย และมาตรการอื่น ๆ ส่วนสาเหตุรองลงมาคือการปนเปื้อนของอากาศภายในอาคารเองจากแหล่งกำเกิดมลพิษที่อยู่ภายในอาคาร [5] 

การเพิ่มการระบายอากาศเป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างหรือปรับปรุงคุณภาพอากาศในอาคารให้ดีขึ้น Fisk et al. [8] วิเคราะห์และหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการระบายอากาศกับความชุกของอาการอาคารป่วยของคนในอาคาร การลดอัตราการระบายอากาศจาก 10 เหลือ 5 ลิตรต่อวินาทีต่อคนจะทำให้ความชุกของการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเพิ่มอัตราการะบายอากาศจาก 10 เป็น 25 ลิตรต่อวินาทีต่อคนจะช่วยลดความชุกของการเจ็บป่วยลงได้ 29 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การเพิ่มอัตราการระบายอากาศจาก 10 เป็น 20 ลิตรต่อวินาทีต่อคนสามารถเพิ่มความสามารถทางด้านการรู้คิด (Cognitive performance) จาก 62 เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ [9] ทั้งนี้การควบคุมการระบายอากาศต้องเป็นไปทั้งในแง่ปริมาณอากาศสะอาดที่เพียงพอและการกระจายการไหลของอากาศที่มีประสิทธิภาพด้วย 

ผู้ที่สนใจต้องการทราบกลยุทธ์คำแนะนำในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารสามารถหาอ่านได้จากคู่มือแนะนำคุณภาพอากาศในอาคาร : แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการออกแบบ การก่อสร้าง และการบริหารจัดการอาคารเมื่ออยู่อาศัย (Indoor Air Quality Guide: Best Practices for Design, Construction and Commissioning) [10] จัดทำโดยสมาคมวิศวกรการทำความร้อน การทำความเย็น และ การปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Heating, Refrigerating and Air-Conditioning Engineers, ASHRAE) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่ตั้งมากว่า 100 ปีและมีสมาชิกทั่วโลก โดยในปี 2009 สมาคมได้เผยแพร่คู่มือแนะนำดังกล่าวที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพและองค์กรวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศในอาคาร ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารทั้งสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา และนักวิชาชีพสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง คู่มือแนะนำไม่ได้เพียงแค่กล่าวถึงการระบายอากาศเท่านั้นแต่ยังรวมถึงกลยุทธ์ในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารให้ประสบความสำเร็จและการแก้ไขหรือป้องกันปัญหาด้านอื่นด้วย เช่น กรณีความชื้นในอาคาร แหล่งกำเนิดมลพิษในอาคาร การฟอกอากาศ เป็นต้น