บทความ: ไมโครพลาสติกในเกลือสมุทรในตลาดโลก และผลการสำรวจเกลือสมุทรในจังหวัดสมุทรสาคร

ในบทความนี้กล่าวถึงพลาสติกหลายชนิดซึ่งถูกกล่าวถึงในวารสารการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งใช้ชื่อหลายชื่อแตกต่างกันไปตามความนิยมและวิธีการวิเคราะห์ ในบทความนี้ผู้เขียนได้ปรับชื่อเรียกพลาสติกชนิดเดียวกันให้เป็นชื่อเดียวกัน โดยใช้ตัวย่อของพลาสติกชนิดต่าง ๆ ดังนี้ Polypropylene (PP), Polyethylene (PE), Polyethylene terephthalate (PET, เป็น Polyester ชนิดหนึ่ง), Polystyrene (PS), Polyamide (PA, หรือ นิยมเรียกว่า Nylon) และ Cellophane (CP, เป็น Regenerate cellulose ชนิดหนึ่ง)


ไมโครพลาสติก (Microplastic) หมายถึง ชิ้นส่วนของพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเป็นพลาสติกที่ถูกผลิตมาให้มีขนาดเล็กอยู่แล้ว อย่างเช่น เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์ (Nurdle) กลิตเตอร์ (Glitter) เม็ดบีดส์ (Beads) หรือไมโครบีดส์ (Microbeads) หรืออาจเป็นพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการสลายตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ เช่น ข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำมาจากพลาสติก โดยเฉพาะถุงพลาสติก และเสื้อผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์ จนกลายเป็นชิ้นส่วน (Fragment) เส้นใย (Fiber) หรือแผ่นฟิล์ม (Film) ที่มีขนาดเล็กกว่าที่กำหนดในนิยามดังกล่าว

ขยะพลาสติกขนาด 10 เซนติเมตรนั้น เมื่อสลายตัวแล้วอาจก่อให้เกิดไมโครพลาสติกขนาด 100 ไมโครเมตร (µm) ได้ถึง 1 ล้านชิ้นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ซึ่งเป็นเกลือที่ได้มาจากการนำน้ำทะเลมาตากแดด ให้น้ำทะเลระเหยออกไปจนเหลือเพียงผลึกเกลือสีขาวนั้น จึงเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

หากน้ำทะเลที่ถูกผันเข้ามาผลิตเกลือสมุทรนั้นมีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเกลือสมุทรที่ผลิตได้ ก็ย่อมมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่ในเกลือด้วยเช่นกัน การศึกษาพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเกลือสมุทรนี้ ถูกรายงานเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 2015 โดยนักวิจัยชาวจีน (Yang และคณะ) หลังจากนั้นจึงได้มีการรายงานว่าพบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในเกลือสมุทรจากอีกหลายงานวิจัย ดังที่ได้รวบรวมและสรุปในตารางที่ 1

รายละเอียดของตัวอย่าง ปริมาณไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์เกลือ ขนาด ลักษณะ และชนิดของไมโครพลาสติก เอกสารอ้างอิง

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของประเทศจีน (15 ตัวอย่าง)

550–681 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม
43–364 ชิ้น/เกลือทะเลสาบ 1 กิโลกรัม
7–204 ชิ้น/เกลือหิน 1 กิโลกรัม

ขนาด: 45–3,000 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน และเส้นใยเป็นส่วนใหญ่ และมีแบบ เม็ด และแผ่นพลาสติก เล็กน้อย

ชนิด: PET, PE, CP

Yang และคณะ (2015)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในตลาดของประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิหร่าน ญี่ปุ่นมาเลเซีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส และแอฟริกาใต้

(17 ตัวอย่าง)

1–10 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาด: >149 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน 64% เส้นใย 26% และแผ่นฟิล์ม  10%ชนิด: PP 40%, PE 33%,  และอื่น ๆ 27%

Karami และคณะ (2017)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในตลาดของประเทศสเปน (21 ตัวอย่าง)

50–280 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาด:10–3,500 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: เส้นใย

ชนิด: PET, PP, PE

Iñiguez และคณะ (2017)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในตลาดของประเทศตุรกี (16 ตัวอย่าง)

16–84 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม
8–102 ชิ้น/เกลือทะเลสาบ 1 กิโลกรัม
9–16 ชิ้น/เกลือหิน 1 กิโลกรัม

ขนาด: 20–5,000 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน เส้นใย และแผ่นฟิล์ม 

ชนิด: PP 23%, PE 19% 

Gündoğdu (2018)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา (12 ตัวอย่าง)

46.7–806 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาด: 100–5,000 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน เส้นใย และขยะพลาสติก

ชนิด: ไม่ระบุ

Kosuth และคณะ (2018)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของประเทศเกาหลีใต้ จีน ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดียเวียดนาม อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส อิตาลี สหราชอาณาจักรเยอรมัน บัลแกเรีย ฮังการี โครเอเชีย สหรัฐอเมริกา และเซเนกัล (39 ตัวอย่าง)

0−1,674 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม
28−462 ชิ้น/เกลือทะเลสาบ 1 กิโลกรัม
0−148 ชิ้น/เกลือหิน 1 กิโลกรัม

ขนาด: 100–5,000 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ส่วนมากเป็นชิ้นส่วน และเส้นใย 

ชนิด: ส่วนมากเป็น PP, PE, และ PET

Kim และคณะ (2018)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรที่ผลิตจากน้ำทะเลจากมหาสมุทรอินเดีย (8 ตัวอย่าง)

56–103 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาด: 0–7,000 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน และเส้นใย 

ชนิด: Polyesters, PET, PA, PE, PS

Seth และ Shriwastav (2018)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรจากประเทศอิตาลี (6 ตัวอย่าง) และประเทศโครเอเชีย (5 ตัวอย่าง)

1.57–8.23 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กรัม (อิตาลี)
27.13–31.68 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กรัม (โครเอเชีย) ขนาด: 4–2,100 ไมโครเมตร (อิตาลี)
15–4,628 ไมโครเมตร (โครเอเชีย) Renzi และ Blašković (2018)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรจากประเทศโปรตุเกส (14 ตัวอย่าง) แบ่งเป็น ดอกเกลือ 7 ตัวอย่าง และเกลือหยาบ 7 ตัวอย่าง

2,320–6,430 ชิ้น/ดอกเกลือ 1 กิโลกรัม
595–3,985 ชิ้น/เกลือหยาบ 1 กิโลกรัม

ลักษณะ: เส้นใย 64% ชิ้นส่วน 35%

ขนาดและชนิด:  ไม่ระบุ เนื่องจากเป็นการแยกและสังเกตด้วยตา

Soares และคณะ (2020)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรจากประเทศอินเดียตอนใต้ (25 ตัวอย่าง)

ไม่ระบุปริมาณ

ขนาด: <200 ไมโครเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน 55% เส้นใย 42% แผ่นชีท 3%

ชนิด: PE 41%, PP 23% 

Selvam และคณะ (2020)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรจากประเทศไนจีเรีย แคเมอรูน กาน่า มาลาวี ซิมบับเว แอฟริกาใต้ เคนย่า และยูกันดา (25 ตัวอย่าง)

1.68±1.83 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาดและลักษณะ: ไม่ระบุ

ชนิด: Polyvinyl acetate (Glue), PP, PE

Fadare และคณะ (2021)

ผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรจากประเทศอินเดีย (10 ตัวอย่าง)

<700 ชิ้น/เกลือสมุทร 1 กิโลกรัม

ขนาด: 3.8 ไมโครเมตร –5.2 มิลลิเมตร 

ลักษณะ: ชิ้นส่วน เส้นใย และเม็ดพลาสติก (Pellet)

ชนิด: CP, PS, PA, Polyarylether (PAR)

Sivagami และคณะ (2021)

 

เกลือสมุทรที่ถูกนักวิทยาศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาศึกษานั้น ต่างก็มีปริมาณการปนเปื้อน ลักษณะ ขนาด และชนิดของไมโครพลาสติกที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้เกณฑ์การศึกษาและแบ่งประเภทของไมโครพลาสติกที่แตกต่างกันไป อีกทั้งการศึกษาแต่ละงานนั้นต่างก็ใช้วัสดุอุปกรณ์ วิธีการและกระบวนการสกัดไมโครพลาสติก รวมไปถึงเครื่องมือในการวิเคราะห์อนุภาคไมโครพลาสติกที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำข้อมูลการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรของรายงานวิจัยต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันโดยตรงนั้นเป็นไปได้ยาก

ตรวจพบปริมาณไมโครพลาสติกในเกลือสมุทรได้ตั้งแต่ 0 จนถึง 39,800 ชิ้นต่อเกลือสมุทรปริมาณ 1 กิโลกรัม และได้ให้เหตุผลของการพบปริมาณไมโครพลาสติกที่มีช่วงค่าที่กว้างเช่นนี้ว่าอาจเกิดจากความแตกต่างกันของขนาดที่เล็กที่สุดที่ตรวจวัดได้ (Cutoff sizes) ของงานวิจัยต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้นักวิจัยทั้ง 2 คน จึงได้ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์เพื่อหาค่าเฉลี่ยของการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร และรายงานผลปริมาณไมโครพลาสติกที่ถูกตรวจพบได้ในเกลือสมุทรดังสรุปในตารางที่ 2 ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่า ไมโครพลาสติกขนาดเล็กในผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรนั้นมีปริมาณมากกว่าไมโครพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างมหาศาล

ค่าทางสถิติของปริมาณ
ไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร จำนวนชิ้นของไมโครพลาสติก/เกลือ 1 กิโลกรัม Cutoff sizes
≥ 10 ไมโครเมตร Cutoff sizes
≥ 20 ไมโครเมตร Cutoff sizes
≥ 100 ไมโครเมตร ค่าเฉลี่ย 12,500 4,700 492 ค่ามัธยฐาน 1,800 680 70

 


สำหรับในประเทศไทยนั้น ศีลาวุธ ดำรงศิริ และเพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์ (2562) ได้ทำการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรซึ่งผลิตได้จากนาเกลือที่ยังไม่ถูกนำไปผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพใด ๆ และได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเกลือขาว เกลือดำ ดอกเกลือ และเกลือแบบนาผ้าใบ แล้วจึงนำมาตรวจวัดปริมาณไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์เกลือสมุทรต่าง ๆ ดังกล่าว และพบว่าเกลือชนิดต่าง ๆ นั้น มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (Cutoff sizes มากกว่าหรือเท่ากับ 50 ไมโครเมตร) ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยตรวจพบช่วงค่าของปริมาณไมโครพลาสติกที่ 34–2,377 ชิ้นต่อเกลือสมุทร 1 กิโลกรัม และมีค่าเฉลี่ย และค่ามัธยฐานของปริมาณไมโครพลาสติกที่ตรวจพบในเกลือสมุทรที่ 378 และ 177 ชิ้นต่อเกลือสมุทร 1 กิโลกรัม ตามลำดับ

เมื่อประมวลผลการสำรวจปริมาณไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร ที่ตรวจพบโดยศีลาวุธ ดำรงศิริ และเพ็ญรดี จันทร์ภิวัฒน์ (2562) ร่วมกับปริมาณเกลือที่ประชากรโดยทั่วไปบริโภคที่ 9-12 กรัม/วัน แล้วพบว่า ประชากรไทยนั้นมีโอกาสได้รับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคเกลือสมุทรที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติก เฉลี่ยประมาณ 1,242–1,656 ชิ้น/ปี และถ้าหากเกลือที่บริโภคนั้นมีการปนเปื้อนในปริมาณมาก ก็อาจมีโอกาสได้รับเอาไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายสูงสุดถึง 10,411 ชิ้น/ปี ซึ่งมีค่าสูงกว่าปริมาณการได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคเกลือสมุทรตามรายงานของ Danopoulos และคณะ (2020) ถึง 1.7 เท่าเลยทีเดียว

บทความนี้ประสงค์เป็นส่วนหนึ่งในการเน้นย้ำและรณรงค์ให้ประชากรไทยเห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง และผลกระทบที่เกิดขี้นในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เองในท้ายที่สุด


โครงการวิจัยศึกษาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในเกลือสมุทร (Study on Microplastic Contamination in Sea Salt) นี้ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ทะเลไทยไร้ขยะ ปีงบประมาณ 2561