การอ้างอิง: วัณณิภา ก้วยเจริญพานิชก์ และ พันธวัศ สัมพันธ์พานิช. (2563). “น้ำเหมืองเป็นกรด”…ผักตบชวาช่วยได้...ทางเลือกสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 24 (ฉบับที่ 3).


บทความ: “น้ำเหมืองเป็นกรด”…ผักตบชวาช่วยได้...ทางเลือกสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีเหมืองแร่ที่เปิดดำเนินการประมาณ 569 แห่ง โดยมีประทานบัตรที่ยังไม่สิ้นอายุประมาณ 1,030 แปลง (สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ, 2561) แม้ว่าการทำเหมืองแร่จะเป็นกิจกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม หากแต่ยังเป็นกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำเหมือง (Mining) เป็นกิจกรรมที่ต้องมีการเปิดหน้าดินด้วยการระเบิดหินเพื่อนำสินแร่ที่ได้ไปถลุงเอาแร่ไปใช้ประโยชน์ในการต่อไป ซึ่งวิธีการนี้ย่อมเกิด หินทิ้ง (Waste Rock) และสินแร่ที่ไม่ต้องการเป็นจำนวนมาก ดังเช่นบริเวณเหมืองทองภูทับฟ้า จังหวัดเลย ที่มีอัตราส่วนระหว่างการขุดตักมูลหินดินต่อการผลิตแร่ เท่ากับ 2.18 : 1 (Stripping Ratio) จะเห็นว่า ปริมาณของหินทิ้งนั้นมีมากกว่าปริมาณของแร่ที่ต้องการ (อรุบล และคณะ, 2558) ประกอบกับการเกิดปัญหาของการจัดการหินทิ้งอย่างไม่เหมาะสม คือ ภายในหินทิ้งรวมถึงสินแร่จะมีโลหะหนักปนเปื้อนอยู่ ซึ่งโลหะหนักเหล่านั้นเมื่อฝนตกจะถูกชะละลายให้ออกมาปนเปื้อนสู่ตัวกลางทางสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ดิน น้ำ และน้ำใต้ดิน เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อโลหะหนักเกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้โลหะหนักนั้นสามารถเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร และสามารถสะสมภายในอวัยวะของสิ่งมีชีวิตจนก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้ (Gavrilescu, 2004)

น้ำเหมืองเป็นกรด หมายถึง น้ำที่ระบายทิ้งออกจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ ซึ่งมีสภาพหรือสภาวะความเป็นกรดเป็นด่างต่ำหรือเป็นกรดจัด และมักจะมีโลหะหนักต่างๆ เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย เช่น อะลูมิเนียม สังกะสี สารหนู และแมงกานีส ส่งผลให้กิจกรรมการทำเหมืองแร่มีการเจือปนหรือปนเปื้อน อันเกิดจากองค์ประกอบของแร่ต่างๆ ปริมาณสูงในสิ่งแวดล้อม (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, 2563) โดยปกติ การเกิดน้ำเหมืองเป็นกรดสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติอย่างช้าๆ เนื่องจากชั้นดินและหินเกิดการสึกกร่อนหรือผุพังตามธรรมชาติ และเมื่อชั้นดินและหินที่เป็นแร่กลุ่มซัลไฟต์ ที่มีองค์ประกอบของแร่ไพไรต์ได้รับการรบกวน จะทำให้อัตราการเกิดน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือน้ำเหมืองเป็นกรดเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว (นุชนาท นาคำ, 2550)


ที่มา : Coyote, 2019

สำหรับเทคนิคในการบำบัดน้ำเหมืองเป็นกรด สามารถแบ่งได้ 2 วิธี คือ 1) Passive Treatment เป็นเทคนิคการบำบัดด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ใช้พืชมาช่วยในการบำบัดและฟื้นฟู ลดความเป็นกรดโดยไม่ต้องเติมสารเคมี ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และการบำรุงรักษามาก เทคนิคการบำบัดแบบนี้ ได้แก่ ระบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland), Open Limestone Channel และ Diversion Well และ 2) Active Treatment เป็นเทคนิคการบำบัดด้วยการใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง เพื่อทำให้นํ้าที่เป็นกรดมีความเป็นกลาง วิธีการนี้มีการใช้สารเคมี ได้แก่ หินปูน ปูนขาว โซดาแอช และแอมโมเนีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคนิคการใช้สารเคมีจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ร่วมด้วย และมักมีราคาค่อนข้างแพง


ที่มา : Earthworks, 2017

การบำบัดน้ำเหมืองเป็นกรด มีวิธีการให้เลือกพิจารณาอยู่หลายวิธี ซึ่งแนวทางเลือกหนึ่ง คือ การบำบัดโดยการใช้พืช (Phytoremediation) เป็นกระบวนการใช้พืชที่มีชีวิตมาบำบัดความเป็นพิษของสารมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติของพืชที่สามารถดูดดึงธาตุอาหาร และสารมลพิษต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำได้ การบำบัดโดยใช้พืชเป็นวิธีการที่มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายต่ำ อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เช่น ชนิดของพืชในแต่ละชนิดจะมีกลไกในการกำจัดสารพิษที่แตกต่างกัน ต้องใช้ระยะเวลาในการบำบัด รวมถึงประสิทธิภาพของการดูดดึงของพืช และความทนทานต่อสารพิษของพืชแต่ละชนิดด้วย  ทั้งนี้ วิธีการที่คาดว่าจะมีความเหมาะสมในการจัดการน้ำเหมืองเป็นกรด คือ การใช้ระบบการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponics) เป็นการใช้พืชน้ำหรือพืชลอยน้ำที่ได้มีผลการศึกษาวิจัยว่า เป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดดึงสารพิษได้สูง (Hyperaccumulator) เช่น ผักตบชวา กก ธูปฤาษี และกูดหมาก เป็นต้น


ปัจจุบันมีงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนำผักตบชวามาใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น การศึกษาของ Sampanpanish and Tippayasa (2007) ได้วิจัยการสะสมโครเมียมเฮกซะวาเลนต์ในผักตบชวา และแว่นแก้ว โดยการปลูกพืชแบบไร้ดิน พบว่า พืชทั้งสองชนิดมีความสามารถในการสะสมโครเมียมเฮกซะวาเลนต์ได้ดี โดยเฉพาะผักตบชวา โดยพบปริมาณการสะสมโครเมียมสูงในบริเวณรากของพืชทดลอง 
เอกชา ตนานนท์ชัย (2554) ศึกษาผลของสาร EDTA และ DTPA ต่อการดูดดึงแคดเมียมที่ปนเปื้อนในดินตะกอนด้วยผักตบชวา พบว่า ผักตบชวามีความสามารถในการสะสมแคดเมียมมากที่สุดในส่วนใต้น้ำ (ราก) รองลงมาคือ ส่วนเหนือน้ำ (ลำต้นและใบ) โดยสารคีเลตทั้งสองชนิดมีส่วนช่วยในการดูดดึงแคดเมียมในผักตบชวา และ Yunus and Prihatini (2018) ได้รศึกษาประสิทธิภาพในการกำจัดเหล็ก และแมงกานีสในน้ำเหมืองเป็นกรด โดยใช้ผักตบชวา และเกาลัดน้ำในระบบพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือระบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) พบว่า ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำ สามารถเพิ่มค่าความเป็นกรดเป็นด่างได้จาก 3.20 เป็น 5.31 นอกจากนี้ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำ ยังสามารถกำจัดเหล็กได้ 87-95% และกำจัดแมงกานีสได้ 70-79%

ผักตบชวา จัดเป็นวัชพืชที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำในประเทศไทยมายาวนาน ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน ได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณมาก และหนาแน่นในแม่น้ำลำคลองต่างๆ โดยเฉพาะการนำผักตบชวามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานต่าง ๆ สินค้าแปรรูปส่งต่างประเทศ โดยในแต่ละพื้นที่ได้มีการพัฒนานำไปสู่การทำผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่  นอกจากนี้ ยังได้มีการคิดค้น และศึกษาวิจัยนำผักตบชวาไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้เชื้อเพลิง โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน และร้านอาหาร เนื่องจากผักตบชวา มีคุณสมบัติที่ไม่มีควันเวลาเผาไหม้ เผาไหม้ได้นาน และราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ (ณิชชา บูรณสิงห์, 2559) จึงเป็นแนวทางเลือกที่สามารถช่วยลดปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำ รวมทั้งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผักตบชวาได้อีกด้วย นอกจากนี้ผักตบชวายังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลายรูปแบบ เช่น การนำไปใช้ในการบำบัดน้ำเสีย นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ การนำไปทำปุ๋ยในรูปแบบปุ๋ยแห้ง ปุ๋ยหมัก และทำเป็นวัสดุคลุมดิน เป็นต้น (กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ, 2545)

สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผักตบชวาในปัจจุบันมีการออกแบบให้ทันสมัย มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปสู่ตลาดต่างประเทศได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่น การพัฒนาและปรับปรุงผักตบชวาออกมาเป็นเส้นด้ายและผ้าผืน นำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าที่มีรูปแบบเรียบง่าย ผสมผสานความทันสมัย ด้วยสมบัติของผักตบชวาที่สวมใส่สบายระบายอากาศได้ดี นั่นคือ “เส้นใยแห่งสายน้ำ” (ชลธิชา ศรีอุบล, 2560) (รูปที่ 4) นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นรองเท้าจากเส้นใยผักตบชวาได้ (รูปที่ 5) หรือมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานของวิสาหกิจชุมชนแล้ว (รูปที่ 6) ยังมีการพัฒนาเป็นอิฐบล็อกดินประสานในการก่อสร้างอาคารได้ด้วย (รูปที่ 7) เป็นต้น


ที่มา : ชลธิชา ศรีอุบล, 2560


ที่มา : Mata, 2019; วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคลองวัว, 2563


ที่มา : หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53 ทหารพัฒนาศรีสะเกษ, 2563

ดังจะเห็นได้ว่า “น้ำเหมืองเป็นกรด” ที่มีการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส หากมีการระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม จะส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมภายนอกได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสุขภาพอนามัยของชุมชน ดังนั้น จึงควรมีวิธีการป้องกัน และจัดการหินทิ้ง สินแร่ อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เป็นเหตุของการเกิดน้ำแหมืองเป็นกรดได้ แต่หากเกิดน้ำเหมืองเป็นกรดขึ้นแล้ว วิธีการบำบัดและฟื้นฟูโดยการใช้พืชมาช่วย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้ผักตบชวาในการบำบัดโดยทำหน้าที่ในการดูดดึง และสะสมโลหะหนักไว้ ทั้งนี้ ผักตบชวา ยังเป็นพืชที่มีศักยภาพในการดึงดูดโลหะหนักในน้ำได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ พืชที่ผ่านการบำบัดโลหะหนักแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่หลากหลายได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันและลดความกังวลจากผู้บริโภคว่า พืชที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ควรที่จะต้องมีการวิเคราะห์ และพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ถึงความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้หรือผู้บริโภคด้วย