ภาพจาก AFP

ศีลาวุธ ดำรงศิริ. (2561). สิ่งแวดล้อมรอบตัว: ขยะทะเล วาระของโลก. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 22 (ฉบับที่ 1), 6-7.

สิ่งแวดล้อมรอบตัว:

ขยะทะเล วาระของโลก

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ช่วงนี้ เราจะได้เห็นข่าวเกี่ยวกับสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่ตายแล้วมาเกยตื้น พร้อมกับพบขยะพลาสติกมากมายอยู่ในช่องท้องของพวกมันบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราให้ความสนใจกับมันมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นที่แน่ชัดก็ คือ เรามีขยะทะเลมากมายมหาศาล และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

ขยะพลาสติกเหล่านี้ แต่เดิมที่เราเห็นได้ด้วยตา ก็คงมีเฉพาะบริเวณชายหาด แต่จริงๆ แล้วพวกมันล่องลอยอยู่ทั่วไปในมหาสมุทร นอกจากนี้ จากกระแสน้ำในมหาสมุทร และความสามารถในการลอยตัวของขยะ ก็ทำให้ขยะต่าง ๆ ที่ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรถูกพัดพามารวมกันอยู่บางจุดในมหาสมุทรจนกลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า แพขยะใหญ่แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานาน และแพขยะนี้ส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วยขยะพลาสติกอีกด้วย ไม่นานมานี้ ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้ค้นพบ เศษซากพลาสติกที่เกิดจากขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์ และใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้า อยู่ในทางเดินอาหารของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมันถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า ขณะนี้ไม่มีส่วนใดในมหาสมุทรที่ขยะพลาสติกไปไม่ถึงอีกแล้ว 

    

    

ผลกระทบของขยะพลาสติกต่อสัตว์ทะเลโดยตรง ก็คือ 1) การที่ขยะพลาสติกพวกนี้ไปติดพันกับตัวของพวกมัน ทำให้มันเติบได้ลำบาก เคลื่อนไหวลำบาก หรือ เคลื่อนไหวไม่ได้จนตาย และ 2) การที่สัตว์เหล่านั้นคิดว่าพลาสติกเหล่านี้ คือ “อาหาร” ดังที่เราเห็นได้ในข่าวต่าง ๆ นักวิชาการประเมินไว้ว่าแต่ละปี จะมีนก สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม และปลา มากมายนับล้านที่ต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกเหล่านี้เข้าไปโดยไม่รู้